NSO

sat rแบบจำลองดาวเสาร์ขณะหมุนรอบตัวเอง
Credit: Almond/ NASA
ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในระบบสุริยะ รองจากดาวพฤหัสบดี และเป็นดาวเคราะห์แก๊สยักษ์เช่นเดียวกับดาวพฤหัสบดี จึงไม่มีพื้นผิวที่เป็นของแข็ง ดาวเสาร์ปรากฏออกสีเหลือง เนื่องจากแก๊สแอมโมเนียในบรรยากาศ

ดาวเสาร์มีระบบวงแหวนที่น่าทึ่งและสวยงาม โดยวงแหวนนี้ไม่ได้เป็นวงแหวนแข็งเพียงแผ่นเดียว แต่ประกอบไปด้วยก้อนน้ำแข็งและหินนับหลายล้านก้อน ซึ่งมีขนาดแตกต่างกันตั้งแต่ขนาดไม่กี่เซนติเมตร ไปจึงถึงหลายเมตร ก้อนวัตถุเหล่านี้ต่างก็โคจรรอบดาวเสาร์ไปด้วยกัน

ถึงแม้วงแหวนของดาวเสาร์จะดูยิ่งใหญ่สวยงามก็ตาม กลับมีความหนาเพียง 1 กิโลเมตร เมื่อเทียบกับขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่กว้างถึง 250,000 กิโลเมตร

 

 

Saturnภาพถ่ายดาวเสาร์จากยานกัสซีนี-เฮยเคินส์
Credit: NASA

ยานลำแรกที่ไปถึงดาวเสาร์คือ ยานไพโอเนียร์ 11 ไปถึงดาวเสาร์ในปี ค.ศ.1979 จากนั้นเป็นต้นมา ก็มียานอีกไม่กี่ลำที่ได้ไปสำรวจดาวเสาร์ โดยยานสำรวจดาวเสาร์ลำล่าสุดคือ ยานกัสซีนี-เฮยเคินส์ ที่ไปถึงและเริ่มโคจรรอบดาวเสาร์ในปี ค.ศ.2004

หากไม่รวมพวกก้อนหินที่โคจรอยู่ตามวงแหวนดาวเสาร์แล้ว ดาวเสาร์มีดวงจันทร์อย่างน้อย 62 ดวง ในจำนวนนี้ 53 ดวงที่ได้รับการตั้งชื่อทางการแล้ว ไททัน (Titan) ดวงจันทร์ดวงใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ มีขนาดใหญ่กว่าดาวพุธและดาวพลูโต ดวงจันทร์ไททันใหญ่พอที่จะมีชั้นบรรยากาศของตนเองได้ และพบว่ามีของเหลวอยู่บนพื้นผิว นอกจากนี้ ดวงจันทร์ไททันยังเป็นหนึ่งในวัตถุในระบบสุริยะที่อาจจะมีสิ่งมีชีวิต (เช่น พวกแบคทีเรีย) อาศัยอยู่บนนั้น