ดาวตก (Meteorหรือ Shooting star) นั้นไม่ใช่ดาวฤกษ์ (Star) แต่เป็นหินก้อนเล็กๆที่เผาไหม้ในขณะที่พุ่งเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลก
มีก้อนหินและฝุ่นจากอวกาศเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลก เป็นจำนวนประมาณ 100 ตันในทุกๆวัน โชคดีที่วัตถุจากอวกาศเหล่านี้ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กไป จนถูกเผาไหม้หมดไปในชั้นบรรยากาศก่อนที่จะตกถึงพื้นโลก และไม่ก่อให้เกิดอันตราย
อย่างไรก็ตาม หินจากอวกาศบางก้อนก็ใหญ่เพียงพอที่จะหลงเหลือจากการเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศได้ เศษที่ตกลงมาถึงพื้นจะเรียกว่า “อุกกาบาต” (meteorite) อุกกาบาตจะมีองค์ประกอบเป็นโลหะเจือปนมากกว่าหากเทียบกับก้อนหินบนพื้นโลก ทำให้อุกกาบาตเหล่านี้หนาแน่น หรือหนักกว่าที่เราคาดไว้จากการประเมินด้วยขนาดของมัน
ดาวตกส่วนใหญ่มักจะมาจากดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กที่หลงเหลือจากการก่อตัวของระบบสุริยะ แต่อีกส่วนหนึ่งก็แตกออกมาจากดาวหาง หรือกระเด็นออกมาจากการพุ่งชนบนดวงจันทร์หรือดาวอังคาร ก่อนจะเดินทางมาถึงโลก
ถึงแม้ว่าคุณจะสามารถเห็นดาวตกเพียงบางดวงในช่วงกลางคืนที่ท้องฟ้าปลอดโปร่ง แต่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการสังเกตดาวตก คือช่วงที่มีปรากฏการณ์ฝนดาวตก (Meteor shower) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อโลกโคจรผ่านเข้าไปในสายธารของเศษชิ้นส่วน ที่ดาวหางทิ้งไว้ตามวงโคจรของมัน ในช่วงที่เกิดฝนดาวตกครั้งใหญ่ๆ คุณอาจจะเห็นดาวตกมากถึง 100 ดวงต่อชั่วโมง ขณะที่ในท้องฟ้ายามค่ำคืนโดยทั่วไป มักจะมีอัตราการปรากฏของดาวตกอยู่ที่ประมาณ 6 ดวงต่อชั่วโมง