นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจพบหลักฐานจำนวนมากที่บ่งชี้ว่าเคยมีวัตถุใกล้โลกขนาดใหญ่พุ่งชนโลกมาหลายครั้งแล้ว โดยมีหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่มากกว่า 160 แห่งที่ปรากฏอยู่บนพื้นผิวโลกในปัจจุบัน
หลุมอุกกาบาตแห่งแรกที่มนุษย์รู้จักคือหลุมอุกกาบาตบาร์ริงเจอร์ (Barringer crater) ที่มีความกว้าง 1,600 เมตร อยู่ในรัฐแอริโซนาของสหรัฐฯ วัตถุใกล้โลกที่ทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตแห่งนี้อาจมีความกว้างเพียง 40-50 เมตร ส่วนพื้นที่ที่เคยเกิดการพุ่งชนแห่งอื่นๆ อย่างบริเวณชายฝั่งของคาบสมุทรยูคาตังในประเทศเม็กซิโก (ภาพขวา) ซึ่งในปัจจุบันนึ้ถูกทับถมอยู่ใต้พื้นทะเลหมดแล้ว นักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งคิดว่าพื้นที่แห่งนี้เกิดจากการพุ่งชนที่ส่งผลให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์จากโลกเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว
ส่วนในช่วงเวลายุคปัจจุบันนี้ นักวิทยาศาสตร์คิดว่ามีเศษดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดเล็กกว่า 50 เมตร ได้ระเบิดแตกออกกลางอากาศ เหนือพื้นที่ตุงกุสคาในแถบไซบีเรียของรัสเซีย ในปี ค.ศ.1908 คลื่นกระแทกที่เกิดขึ้นจากการระเบิดทำให้ต้นไม้ในป่าล้มระเนระนาดออกไปทุกทิศทุกทาง กินพื้นที่นับร้อยตารางกิโลเมตร แต่การพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่เกิดขึ้นได้ยาก
แต่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมา หากวัตถุใกล้โลกขนาดใหญ่พุ่งชนโลก
ความอันตรายจากการพุ่งชนของวัตถุใกล้โลกจะเพิ่มขึ้นตามขนาดของวัตถุนั้น ภัยในระดับรุนแรงมากมักมาจากวัตถุที่มีขนาดใหญ่กว่า 1 กิโลเมตร ซึ่งก่อให้เกิดผลลัพธ์การทำลายล้างในระดับภูมิภาคหรือระดับทั่วโลก
โชคดีที่ดาวเคราะห์น้อยที่ใหญ่จนมีความอันตรายมากนั้นหายาก และโดยเฉลี่ยแล้ว ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่เหล่านี้จะพุ่งชนโลกไม่กี่ครั้งในรอบ 1 ล้านปี แต่สถิติพวกนี้ก็ไม่สามารถบอกเราได้ว่าการพุ่งชนครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาไหนก็ได้ไม่ว่าจะปีหน้าหรือแม้แต่อีกหลายล้านปีในอนาคต
เทคโนโลยีเรามีอยู่ในปัจจุบันสามารถป้องกันการพุ่งชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ แต่เราจำเป็นต้องติดตามและแสดงผลการโคจรของเหล่าวัตถุใกล้โลก เพื่อประเมินว่าวัตถุพวกนี้มีความเสี่ยงที่จะพุ่งชนโลกแค่ไหน หากเราสามารถคาดการณ์การพุ่งชนได้ล่วงหน้า ภายในระยะเวลา 10 ปีหรือมากกว่านั้น การใช้จรวดพร้อมระเบิดตามเทคโนโลยีในปัจจุบันก็เพียงพอที่จะสามารถผลักวัตถุใกล้โลกออกไปได้