NSO

plannebเนบิวลารูปเกลียว
Credit: HST/NASA
“เนบิวลาดาวเคราะห์” เป็นชั้นเปลือกของแก๊สร้อน (พลาสมา) ที่ขยายตัวและเรืองแสงที่ถูกปลดปล่อยออกไปในช่วงจุดจบของดาวฤกษ์มวลน้อย ซึ่ง เนบิวลาประเภทนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับดาวเคราะห์เลย แต่ถูกตั้งชื่อว่า “เนบิวลาดาวเคราะห์” เนื่องจากนักดาราศาสตร์สมัยก่อนคิดว่าเนบิวลาพวกนี้ดูคล้ายๆกับดาวเคราะห์ เมื่อสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก

 

ดาวฤกษ์มวลน้อยจะกลายเป็นเนบิวลาดาวเคราะห์หลังจากผ่านระยะดาวยักษ์แดง ที่ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ดาวฤกษ์จะไม่มีเสถียรภาพและเริ่มขยายตัว-หดตัวสลับกันอย่างรวดเร็ว แล้วโครงสร้างชั้นนอกของดาวฤกษ์จะถูกปลดปล่อยออกสู่อวกาศด้วย “ลมดาวฤกษ์” (กระแสอนุภาคมีประจุไฟฟ้าที่ดาวฤกษ์แผ่ออกมา) เนบิวลาดาวเคราะห์จะคงอยู่ได้ค่อนข้างสั้น ภายในระยะเวลานับไม่กี่หมื่นปี

 

พอโครงสร้างชั้นนอกของดาวถูกพัดออกสู่อวกาศ แก่นกลางดาวที่เหลืออยู่จะส่องสว่างและมีความร้อนสูง (1 แสนองศาเซลเซียสขึ้นไป) แก่นกลางนี้จะเรียกว่า “ดาวแคระขาว” การแผ่รังสีอัลตราไวโอเลตจากดาวแคระขาวทำให้ชั้นแก๊สรอบนอกที่ถูกปลดปล่อยออกไปเรืองแสงขึ้นมา เรียกว่า “เนบิวลาดาวเคราะห์”

 

เมื่อเวลาผ่านล่วงไป วัสดุต่างๆจากเนบิวลาดาวเคราะห์จะกระจัดกระจายไปในอวกาศ และเป็นวัตถุดิบในการก่อตัวของดาวฤกษ์รุ่นต่อไป