NSO

เมื่อนักดาราศาสตร์เริ่มศึกษากาแล็กซีให้ละเอียดมากขึ้น พบว่ากาแล็กซีเหล่านี้มีรายละเอียดบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน เมื่อเวลาผ่านไป ได้มีการพัฒนาการแบ่งกาแล็กซีประเภทต่างๆ โดยอาศัยลักษณะปรากฏของกาแล็กซีแต่ละแห่ง การแบ่งประเภทกาแล็กซีที่มีชื่อเสียงที่สุดถูกคิดขึ้นโดยเอ็ดวิน ฮับเบิล ในปี ค.ศ.1936 ในชื่อ “ส้อมเสียงของฮับเบิล” เนื่องจากรูปร่างของแผนภาพการแบ่งประเภท รายการการแบ่งประเภทกาแล็กซีของฮับเบิล จะแบ่งกาแล็กซีออกเป็น 3 ประเภทตามลักษณะปรากฏ

 

tuningforkแผนภาพส้อมเสียงของฮับเบิล
Credit: NSO

 

กาแล็กซีทรงรี

กาแล็กซีทรงรีเป็นประเภทของกาแล็กซีที่จัดกลุ่มตามกาแล็กซีที่มีลักษณะเรียวยาว กาแล็กซีทรงรีที่มีรูปร่างกลมจะถูกจัดเป็นชนิด E0 หากกาแล็กซียิ่งมีลักษณะเรียวยาวขึ้น จะมีตัวเลขกำกับชนิดกาแล็กซีที่มากขึ้นตามไปด้วย อย่างกาแล็กซีที่มีลักษณะรีหรือแป้นที่สุด จะถูกจัดเป็นชนิด E7

 

กาแล็กซีรูปเลนส์

กาแล็กซีประเภทนี้จะถูกจัดเป็นชนิด S0 กาแล็กซีเหล่านี้ประกอบด้วยส่วนโป่ง (Bulge) ตรงกลางที่สว่าง ล้อมรอบด้วยโครงสร้างคล้ายจานที่แผ่กว้างออกไป จะแตกต่างจากกาแล็กซีทรงกังหัน ตรงที่จานของกาแล็กซีรูปเลนส์ไม่ได้มีโครงสร้างคลายตัวออกจนเห็นเป็นรูปกังหัน และมีหลักฐานบ่งชี้การก่อตัวของดาวฤกษ์ในกาแล็กซีค่อนข้างน้อย

 

กาแล็กซีทรงกังหัน

กาแล็กซีทรงกังหันโดยมาตรฐานแล้วจะมีตัวอักษร S กำกับไว้ในชื่อชนิด แต่กาแล็กซีทรงกังหันประมาณครึ่งหนึ่ง จะมีแขนกาแล็กซีที่ปรากฏลักษณะของแท่งคานด้วย กาแล็กซีทรงกังหันมีคานจะใช้ตัวอักษร SB กำกับไว้ในชื่อชนิด ทั้งกาแล็กซีทรงกังหันและกาแล็กซีทรงกังหันมีคาน ต่างก็ถูกแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 3 กลุ่ม โดยประเมินจากลักษณะของแขนกาแล็กซีว่าอยู่ชิดกันแน่นหรือคลายตัวแค่ไหน และขนาดของส่วนโป่งตรงกลางกาแล็กซี กาแล็กซีชนิด Sa และ SBa จะมีแขนกาแล็กซีกระจุกตัวกันแน่นและมีส่วนโป่งตรงกลางขนาดใหญ่ ขณะที่กาแล็กซีชนิด Sc และ SBc จะมีแขนกาแล็กซีที่คลายตัวกันหลวมๆและมีส่วนโป่งตรงกลางขนาดเล็ก ส่วนกาแล็กซีชนิด Sb และ SBb จะมีลักษณะระหว่างพวก Sa/SBa กับ Sc/SBc

การแบ่งประเภทของกาแล็กซีจะถูกแบ่งย่อยออกไปเป็นชนิดต่างๆ เพื่อแยกความแตกต่างของลักษณะปรากฏของกาแล็กซีได้ละเอียดขึ้น และยังรวมกาแล็กซีประเภทอื่นๆ อย่างกาแล็กซีไร้รูปร่าง ที่มีลักษณะโครงสร้างที่ไม่ชัดเจน