ดาวพลูโต เป็นหนึ่งในดาวเคราะห์แคระที่อยู่บริเวณรอบนอกของระบบสุริยะ
ไคลด์ ทอมบอก์ (Clyde Tombaugh) นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันได้ค้นพบดาวพลูโต ในปี ค.ศ.1930 ดาวพลูโตมีสถานะเป็น “ดาวเคราะห์ดวงที่ 9” ตั้งแต่ที่ถูกค้นพบจนถึงปี ค.ศ.2006 ซึ่งชื่อของดาวพลูโตถูกนำไปใช้เป็นชื่อกลุ่มของดาวเคราะห์แคระที่โคจรอยู่เลยดาวเนปจูนออกไป เรียกว่า “พลูตอยด์” (Plutoid)
วงโคจรของดาวพลูโตมีรูปร่างที่รีมาก ซึ่งดาวพลูโตใช้เวลานานถึง 248 ปี โคจรรอบดวงอาทิตย์ไปบนวงโคจรรูปวงรีนี้ วงโคจรของดาวพลูโตถือว่าเอียงมาก โดยระนาบวงโคจรของดาวพลูโตทำมุมเอียงจากระนาบวงโคจรของโลกประมาณ 17 องศา
ยานนิว ฮอไรซอนส์ (New Horizons) ขององค์การ NASA เป็นยานลำแรกที่ได้สำรวจดาวพลูโต โดยเฉียดเข้าใกล้ดาวดวงนี้ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2015 ยานลำนี้ได้ถ่ายภาพดาวพลูโตในระยะใกล้ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ตรวจพบหลุมอุกกาบาตจำนวนมากที่เกิดจากการพุ่งชนบนพื้นผิวในอดีต ดาวพลูโตมีชั้นบรรยากาศบางๆ และเกิดหิมะตกลงบนพื้นผิวดาวบ่อยครั้ง ดาวพลูโตยังมีขนาดใหญ่กว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ แสดงว่าตัวดาวมีน้ำแข็งมากกว่า และมีหินน้อยกว่าที่เคยคิดไว้
นักดาราศาสตร์ตรวจพบดวงจันทร์ 5 ดวงโคจรรอบดาวพลูโต ประกอบด้วยคารอน (Charon) ดวงจันทร์ดวงใหญ่ที่สุดในกลุ่มมีขนาดราวครึ่งหนึ่งของดาวพลูโต ไฮดรา (Hydra) และนิกซ์ (Nix) ที่มีขนาดเล็กกว่า ส่วนเคอร์เบอรอส (Kerberos, P4 ในรูป) และสติกซ์ (Styx, P5 ในรูป) ที่ถูกค้นพบหลังสุดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงไม่กี่สิบกิโลเมตร