NSO

sngalaxyซูเปอร์โนวาที่เกิดขึ้นใกล้กาแล็กซีที่อยู่ห่างไกล
Credit: NASA, ESA, The Hubble Key Project Team, and The High-Z Supernova Search Team
“ซูเปอร์โนวา” (Supernova) เป็นการระเบิดครั้งใหญ่ของดาวฤกษ์มวลมากที่วิวัฒนาการมาถึงจุดจบของวงจรชีวิตดาว ในช่วงเวลาสั้นๆที่เกิดการระเบิดขึ้น ซูเปอร์โนวาจะมีความสว่างมากพอๆกับความสว่างทั้งหมดของกาแล็กซี แต่จะริบหรี่ลงภายในระยะเวลาหลายวัน

 

เมื่อเชื้อเพลิงสำหรับปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันในดาวฤกษ์มวลมากหมดลง ทำให้ไม่มีความดันที่พยายามดันโครงสร้างภายในตัวดาวออกมา ความโน้มถ่วงที่พยายามทำให้ดาวยุบตัวลงซึ่งเคยอยู่ในสมดุลก็สามารถเอาชนะแรงดันได้ โครงสร้างรอบนอกของดาวฤกษ์จะยุบตัวลงสู่ใจกลางดาวแล้วเกิดการระเบิดอย่างรวดเร็ว โดยอัตราเร็วของสสารที่สาดกระจายออกสู่อวกาศจากการระเบิดจะเร็วถึง 30,000 กิโลเมตร/วินาที คลื่นกระแทกที่เกิดขึ้นจากการระเบิดก่อให้เกิดชั้นเปลือกของฝุ่นแก๊สที่ขยายตัว เรียกว่า “ซากซูเปอร์โนวา” (Supernova remnant)

 

แก่นกลางดาวที่หลงเหลือจากการระเบิดจะกลายเป็นดาวนิวตรอน หรือในกรณีดาวฤกษ์ที่มีมวลมหาศาล (มากกว่า 40 เท่าของดวงอาทิตย์) แก่นกลางนี้จะกลายเป็นหลุมดำ

 

หลังจากเวลาได้ผ่านไปนับหลายล้านปี วัสดุต่างๆในซากซูเปอร์โนวาจะกระจายไปสู่เมฆแก๊สที่อยู่บริเวณใกล้เคียง และในที่สุดก็จะก่อตัวเป็นดาวฤกษ์ดวงใหม่ ธาตุต่างๆในเอกภพโดยส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันที่ใจกลางดาวฤกษ์ จึงสามารถกล่าวได้ว่า พวกเราต่างมีองค์ประกอบมาจากเศษฝุ่นจากดาวฤกษ์ที่สิ้นอายุขัยไปนานแล้ว