NSO

pulsarภาพวาดจินตนาการแสดงดาวนิวตรอน
Credit: Science@NASA
พัลซาร์เป็นดาวนิวตรอนที่หมุนรอบตัวเองเร็วมาก และเปล่งพลังงานในทิศทางชี้มายังโลกเป็นจังหวะซ้ำๆกัน พัลซาร์จะเกิดขึ้นหลังจากเกิดซูเปอร์โนวา เมื่อดาวฤกษ์มวลมากระเบิด จะเหลือแก่นกลางดาวที่เคยอยู่ภายใต้สภาวะความดันสูงที่กลายเป็นวัตถุที่หมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็ว และมีสนามแม่เหล็กความเข้มสูงมาก

 

พัลซาร์จะปล่อยลำรังสี ที่เราสามารถตรวจพบได้หากลำรังสีชี้ในทิศทางพุ่งมายังโลกเท่านั้น การที่ดาวนิวตรอนหมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ลำรังสีกวาดผ่านโลกเป็นสัญญาณที่มีจังหวะซ้ำๆกัน คล้ายสัญญาณชีพจร (Pulse) ดังนั้น พัลซาร์จะดูคล้ายคลึงกับการมองเห็นแสงที่สาดส่องจากประภาคาร ที่จะปรากฏสว่าง-มืดสลับกันเป็นจังหวะ

 

ช่วงเวลาระหว่างสัญญาณแต่ละครั้งที่มาจากพัลซาร์จะมีตั้งแต่ 0.0014 – 8.5 วินาที หรือจะกล่าวได้ว่าพัลซาร์เหล่านี้หมุนรอบตัวเองเร็วมากเมื่อเทียบกับโลกที่ใช้เวลาหมุนรอบตัวเอง 24 ชั่วโมง ในบางกรณีนั้น พัลซาร์จะหมุนรอบตัวเองได้มากกว่า 500 ครั้งใน 1 วินาที และวัตถุเหล่านี้มีขนาดความกว้างเพียงไม่กี่สิบกิโลเมตร แต่มีมวลพอๆกับดวงอาทิตย์

 

พัลซาร์ดวงแรกถูกค้นพบในปี ค.ศ.1967 โดยโจเซลีน เบลล์ เบอร์เนล และแอนโทนี ฮีววิช แต่เนื่องจากสภาพทางธรรมชาติของพัลซาร์ ทำให้กลุ่มผู้ค้นพบรู้สึกประหลาดใจว่าสัญญาณพัลซาร์ที่ตรวจพบเป็นสัญญาณจากอารยธรรมนอกโลกหรือไม่ พวกเขาจึงตั้งชื่อพัลซาร์ดวงแรกว่า LGM-1 (LGM ย่อมาจาก Little Green Men) แต่ในปัจจุบันนี้ เป็นที่ทราบกันแล้วว่าสัยญาณดังกล่าวไม่ได้มาจากอารยธรรมนอกโลก