NSO

กาแล็กซีทางช้างเผือก (Milky Way) เป็นกาแล็กซีที่พวกเราอาศัยอยู่ แต่เนื่องจากดวงอาทิตย์ก็อยู่ภายในกาแล็กซี่แห่งนี้ เราจึงไม่สามารถมองเห็นได้ว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกมีรูปร่างเป็นอย่างไร สิ่งที่เราเห็นได้คือแถบขาวจางๆที่เหยียดตัวพาดผ่านท้องฟ้ายามค่ำคืน ชื่อ Milky Way มาจากคำว่า Via Lactea ในภาษาละติน ซึ่งแปลตรงตัวว่า “ทางน้ำนม” เมื่อเราสำรวจแถบนี้อย่างละเอียดแล้ว จะพบว่าแถบทางช้างเผือกประกอบไปด้วยดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างไกลนับพันล้านดวง แต่แสงจากดาวฤกษ์เหล่านี้ส่วนใหญ่ ถูกลดทอนด้วยฝุ่นแก๊สที่อยู่ในระนาบของกาแล็กซี

 

milkywayภาพกาแล็กซีทางช้างเผือกตลอดทุกส่วนของแถบที่ประกอบจากภาพถ่ายส่วนต่างๆ
Credit: Gigagalaxy Project
 

ผลจากการสังเกตการณ์บ่งชี้ว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกเป็นกาแล็กซีแบบกังหันมีคาน ที่มีดาวฤกษ์อยู่อย่างน้อย 2 แสนล้านดวง มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 100,000 ปีแสง และมีความหนาเฉลี่ยประมาณ 1,000 ปีแสง ดวงอาทิตย์จะอยู่ในบริเวณค่อนข้างมืดมิด (มีดาวฤกษ์ค่อนข้างน้อย) ที่อยู่ห่างออกไปจากใจกลางกาแล็กซีไปราว 2/3 ของขนาดรัศมีกาแล็กซี

 

ระนาบของกาแล็กซีทางช้างเผือกเอียงทำมุมราว 60 องศาจากระนาบสุริยวิถี (ระนาบของระบบสุริยะ) ซึ่งใจกลางของกาแล็กซีทางช้างเผือกจะปรากฏอยู่ในทิศทางของกลุ่มดาวคนยิงธนู

 

ดวงอาทิตย์โคจรรอบใจกลางทางช้างเผือก เช่นเดียวกับโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยอัตราเร็วในการโคจรของดวงอาทิตย์อยู่ที่ประมาณ 220 กิโลเมตร/วินาที อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวงโคจรของดวงอาทิตย์รอบใจกลางทางช้างเผือกเป็นระยะทางที่ยาวมาก ดวงอาทิตย์จึงต้องใช้เวลาถึง 225 ล้านปีในการโคจรครบรอบ