NSO

exoplanetภาพวาดจินตนาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ HD189733b
Credit: ESA, NASA, G. Tinetti (UCL, UK & ESA) and M. Kornmesser (ESA/Hubble)
ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (Extra-Solar planet หรือ Exoplanet) เป็นดาวเคราะห์ที่โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ดวงอื่นนอกจากดวงอาทิตย์ หรืออยู่นอกระบบสุริยะของเรา

 

ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรกถูกค้นพบในปี ค.ศ.1995 ดาวเคราะห์ดวงนี้โคจรรอบดาวฤกษ์ที่มีลักษณะคล้ายดวงอาทิตย์ ชื่อ 51 Pegasus จนถึงปัจจุบันนี้ มีจำนวนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่นักดาราศาสตร์ค้นพบแล้วมากกว่า 3,400 ดวง (ตามสถิติในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2017) และในจำนวนดังกล่าว ดาวเคราะห์ส่วนใหญ่มีขนาดประมาณดาวพฤหัสบดี นักดาราศาสตร์มีวิธีการตรวจหาดาวฤกษ์ที่มีดาวเคราะห์โคจรอยู่โดยรอบหลายแบบ และวิธีการหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะแต่ละแบบก็ช่วยเพิ่มจำนวนดาวเคราะห์ที่ตรวจพบจนถึงยอดจำนวนในปัจจุบัน

 

ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะราว 20% จากจำนวนทั้งหมดที่นักดาราศาสตร์ค้นพบมีคาบการโคจรรอบดาวฤกษ์ดวงแม่ที่สั้นมาก และใช้เวลาโคจรครบรอบน้อยกว่า 10 วัน ซึ่งกฏของความโน้มถ่วงอธิบายว่าดาวเคราะห์ที่มีคาบการโคจรน้อยจะอยู่ใกล้กับดาวฤกษ์ดวงแม่ ขณะที่ดาวเคราะห์ที่มีคาบการโคจรยาวกว่าจะอยู่ห่างจากดาวฤกษ์ดวงแม่ออกมามากกว่า

 

ในกรณีระบบสุริยะของเรานั้น มีดาวพุธเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบรอบนาน 88 วัน ขณะที่ดาวเนปจูน ดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างไกลดวงอาทิตย์มากที่สุด ใช้เวลาโคจรครบรอบนานถึง 165 ปี ส่วนพื้นผิวของดาวพุธก็สูงถึง 400 องศาเซลเซียส และดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่อยู่ใกล้ดาวฤกษ์ดวงแม่ยิ่งกว่าดาวพุธ จะมีพื้นผิวร้อนมากถึงมากกว่า 1,000 องศาเซลเซียส ซึ่งร้อนเกินกว่าระดับที่สิ่งมีชีวิตจะสามารถอยู่อาศัยได้ไปมาก

นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะด้วยวิธีการต่างๆ หลายวิธี ได้แก่

 

วิธีวัดความเร็วในแนวเล็ง

wobbleดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ทำให้ดาวฤกษ์ดวงแม่เกิดการส่าย
Credit: NJIT

 

ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะส่วนใหญ่ที่เรารู้จักถูกค้นพบด้วยวิธีนี้ ซึ่งพิจารณาผ่านความโน้มถ่วงที่ดาวเคราะห์ที่ดาวเคราะห์กระทำต่อดาวฤกษ์ดวงแม่ หรือจะกล่าวได้ว่าดาวเคราะห์เหล่านี้ทำให้ดาวฤกษ์ดวงแม่ “ส่าย” และระบบดาวฤกษ์-ดาวเคราะห์ดังกล่าวจะโคจรไปรอบจุดศูนย์กลางมวลของระบบ

 

หากเรามองจากระนาบของวงโคจรดาวเคราะห์ เราจะเห็นการส่ายของดาวฤกษ์ว่าดาวจะเคลื่อนที่เข้าหาหรือออกห่างจากเรา แต่ถ้าเรามองลองมาจากบริเวณเหนือระนาบวงโคจรดาวเคราะห์ (มุมมองตามในภาพเคลื่อนไหว) เราจะเห็นการส่ายของดาวว่าเป็นการเลื่อนตำแหน่งพิกัดทางดาราศาสตร์ (Astrometric Shift) ซึ่งหมายความว่า ดาวฤกษ์ดวงแม่จะโคจรไปเป็นวงเล็กๆบนท้องฟ้า เมื่อเทียบตำแหน่งดาวฤกษ์ดวงอื่นที่มีตำแหน่งอยู่นิ่ง

 

อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์พบว่าการสังเกตการณ์ว่า ดาวฤกษ์จะเคลื่อนที่เข้าหาและออกห่างจากเราสลับกันหรือไม่นั้นง่ายกว่า โดยวัดความเร็วในแนวเล็งของดาวฤกษ์ผ่านการสังเกตสเปกตรัม เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถตรวจวัดความเร็วในแนวเล็งของดาวฤกษ์ได้ละเอียดถึง 1 เมตร/วินาที ขณะที่กรณีระบบสุริยะของเรา ดาวพฤหัสบดีสามารถทำให้ดวงอาทิตย์ส่ายด้วยความเร็วถึง 12.5 เมตร/วินาที ดังนั้น จึงไม่แปลกใจว่าทำไมนักดาราศาสตร์สามารถตรวจพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ที่เป็นดาวเคราะห์แก๊สยักษ์แบบดาวพฤหัสบดีได้


Transit Method วิธีวัดการเคลื่อนผ่านหน้า

 

trans aniภาพแสดงเหตุการณ์ที่ความสว่างของดาวฤกษ์ดวงแม่ลดลง เนื่องจากถูกดาวเคราะห์โคจรผ่านหน้า
Credit: NJIT
วิธีการตรวจหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะวิธีนี้ค่อนข้างไม่ซับซ้อนจนเราสามารถทำได้โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ลิเวอร์พูล วิธีการนี้จะมองหาการลดลงของความสว่างดาวฤกษ์ที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเกิดจากดาวเคราะห์ดวงใหญ่ที่โคจรผ่านหน้าดาวฤกษ์เป็นรอบๆ

 

สำหรับกรณีดาวเคราะห์ยักษ์ที่อยู่ใกล้ดาวฤกษ์ดวงแม่จะทำให้ความสว่างของดาวฤกษ์ลดลงได้ถึง 2% และจะโคจรผ่านหน้าดาวฤกษ์ภายในช่วงเวลาไม่กี่วัน นอกจากนี้ จากภาพเคลื่อนไหวแสดงการส่ายของดาวฤกษ์ทางด้านบน หากวงโคจรของดาวเคราะห์มีระนาบที่เล็งเข้าหาแนวเล็งจากโลกพอดี ดาวเคราะห์จะสามารถโคจรผ่านหน้าดาวฤกษ์ดวงแม่ได้ แต่ถ้าระนาบวงโคจรของดาวเคราะห์เอียงจากแนวเล็งไปมาก ดาวเคราะห์จะไม่สามารถโคจรผ่านหน้าดาวฤกษ์ และไม่สามารถตรวจหาดาวเคราะห์ด้วยวิธีวัดการเคลื่อนผ่านหน้าได้

 

ในกาแล็กซีทางช้างเผือกมีดาวฤกษ์นับหลายล้านดวง จึงน่าจะมีดาวฤกษ์ที่มีดาวเคราะห์โคจรอยู่ในระนาบวงโคจรที่เหมาะสม (ซ้อนทับกับแนวเล็งจากโลก) จนสามารถตรวจพบดาวเคราะห์ได้ด้วยวิธีวัดการเคลื่อนผ่านหน้าได้หลายดวง นักวิทยาศาสตร์ประเมินไว้ว่าน่าจะมีดาวฤกษ์เพียง 1% ของจำนวนดาวฤกษ์ในกาแล็กซีทางช้างเผือก ที่อาจมีดาวเคราะห์โคจรผ่านหน้าดาวฤกษ์ดวงแม่เมื่อสังเกตการณ์จากโลก


วิธีการถ่ายภาพโดยตรง

 

gqlupiภาพถ่ายดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ GQ Lupi
Credit: ESO
วิธีการตรวจหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะวิธีนี้ จะมีเป้าหมายเพื่อถ่ายภาพดาวเคราะห์ที่สะท้อนแสงจากดาวฤกษ์ดวงแม่ แต่วิธีค่อนข้างทำได้ยาก

 

ดาวฤกษ์ดวงแม่จะมีความสว่างมากกว่าดาวเคราะห์หลายพันเท่า ดังนั้น ดาวเคราะห์จะถูกแสงจากดาวฤกษ์ดวงแม่กลบได้ คล้ายๆกับกรณีแสงเทียนที่ไปอยู่ใกล้ๆหลอดไฟสปอตไลท์ที่สว่างมาก นอกจากนั้น ระยะห่างระหว่างดาวเคราะห์กับดาวฤกษ์ดวงแม่ก็มีผลต่อการถ่ายภาพโดยตรงด้วย หากดาวเคราะห์อยู่ใกล้ดาวฤกษ์ดวงแม่มากๆ ในภาพที่ถ่ายผ่านกล้องโทรทรรศน์จะไม่สามารถแยกภาพดาวเคราะห์และดาวฤกษ์ออกจากกันได้

 

นักดาราศาสตร์ได้พัฒนาอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อลดความแตกต่างระหว่างความสว่างของดาวฤกษ์ดวงแม่กับดาวเคราะห์ เช่น การใช้ “โคโรนากราฟ” (Coronagraph) ซึ่งเป็นหน้ากากสำหรับบังแสงจากดาวฤกษ์ดวงแม่ รวมถึงเทคนิคการลดผลกระทบจากความแปรปรวนในชั้นบรรยากาศโลก อย่างการใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศ

 

ภาพถ่ายตัวอย่างนี้ถูกถ่ายในปี ค.ศ.2005 แสดงดาวเคราะห์ (ตรงตำแหน่ง b) โคจรรอบดาวฤกษ์ GQ Lupi (ตรงตำแหน่ง A) ซึ่งดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่ห่างจากดาวฤกษ์ดวงแม่มากกว่าระยะห่างจากดวงอาทิตย์ถึงดาวพฤหัสบดี ประมาณ 20 เท่า