คณะสำรวจได้ค้นพบ เศษอุกกาบาตที่มาจากดาวเคราะห์น้อย 2018 LA ที่พุ่งชนโลก เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2561ในพื้นที่ในประเทศบอตสวานา
การค้นพบอุกกาบาตชิ้นนี้ เป็นผลจากการเฝ้าติดตามการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย 2018 LA โดยนักดาราศาสตร์ Richard Kowalski จากหอดูดาว Catalina Sky Survey ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวถูกพบใน วันที่ 2 มิถุนายน 2561เวลา 15.14 น.ตามเวลาประเทศไทย หลังจากนั้นประมาณ แปดชั่วโมงดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ ได้พุ่งชนโลกเมื่อเวลา 23.44 น. บริเวณพรมแดนระหว่างประเทศแอฟริกาใต้และประเทศบอตสวานา
นาซาแถลงเกี่ยวกับการพุ่งชนครั้งนี้ว่า ดาวเคราะห์น้อย 2018 LA จะพุ่งเข้าชนโลกด้วยความเร็วถึง 61,155 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วระเบิดกลางชั้นบรรยากาศ ด้วยแรงระเบิดนี้เทียบได้กับระเบิด TNT ขนาด 300 ถึง 500 ตัน
นักดาราศาสตร์ผู้ค้นพบได้กล่าวถึงดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ว่าจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ เพราะผลสังเกตการณ์พบว่าดาวเคราะห์น้อย 2018 LA มีความสว่างน้อยมากซึ่งหมายความว่าขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณแค่ 2-5 เมตร ถือว่ามีขนาดเล็กมากและจะเผาไหม้หมดไปในชั้นบรรยากาศ แต่ทีมสำรวจยังเชื่อว่าอาจมีเศษชิ้นส่วนที่หลงเหลือจาการระเบิดตกสู่พื้นโลก จึงได้มีการตั้งคณะสำรวจเพื่อทำการค้นหา การค้นพบครั้งนี้สำคัญมากตรงที่เราสามารถตรวจจับดาวเคราะห์น้อยก่อนที่มันจะพุ่งชนโลกและสามารถเฝ้าติดตามตอนที่มันเข้ามาในชั้นบรรยากาศได้
คณะสำรวจซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญของประเทศบอสวานาและสหรัฐอเมริกา คนพบอุกกาบาตชิ้นแรกหลังจากค้นหาถึงห้าวัน Peter Jenniskens นักค้นหาอุกกาบาต ได้เดินทางไปยังประเทศบอสวานา คณะสำรวจเพื่อช่วยในการคำนวนทิศทางของดาวตกและความสูงขณะเกิดการระเบิดนำไปสู่การค้นพบอุกกาบาตชิ้นนี้ ซึ่งเป็นการค้นพบที่มีค่าทางวิทยาศาสตร์อย่างมากเพราะจะนำไปสู่การวางแผนเพื่อป้องกันภัยพิบัติที่เกิดจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยในอนาคต
ที่มา
https://www.space.com/40783-tiny-asteroid-hits-earth-2018-la-video.html
https://www.sciencedaily.com/releases/2018/07/180706091720.htm
เรียบเรียงโดย
สิทธิพร เดือนตะคุ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.