ภาพจำลองของยาน Progress ขณะเข้าใกล้สถานีอวกาศนานาชาติ
ยาน Progress MS-09 ถูกส่งขึ้นจากฐานที่ Baikonur Cosmodrome ในเวลา 03:51 น. ตามเวลาประเทศไทย นี่เป็นภารกิจที่ 3 ที่ทางรัสเซียพยายามจะปล่อยยาน Progress เพื่อไปให้ถึงสถานีอวกาศนานาชาติโดยใช้เวลาไม่เกิน 4 ชั่วโมง ซึ่งสองภารกิจก่อนหน้านั้นถูกเลื่อนกำหนดการทำให้มันไม่สามารถใช้เส้นทาง Fast track เพื่อไปถึงสถานีอวกาศนานาชาติแบบรวดเร็วได้
การทำ Fast track นั้นจำเป็นจะต้องให้สถานีอวกาศนานาชาติกับฐานปล่อยอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ต้องมีการอัพเกรดของยาน Progress-MS ที่ช่วยให้ยานสามารถเช็คสภาพการเข้าสู่วงโคจรได้ และยังมีการติดตั้งระบบติดตามในฝั่งตะวันออกของรัสเซียที่คอยติดตามเส้นทางของยานด้วยเช่นกัน
แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็ยังไม่พอเพราะในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2561 สถานีอวกาศนานาชาติต้องจุดระบบขับดันเพื่อเปลี่ยนระดับวงโคจรของตัวสถานีให้สามารถเข้ากับวงโคจรของยาน Progress ได้ และลดเวลาเดินทางลงจาก 48 ชั่วโมงให้เหลือเพียงไม่ถึง 4 ชั่วโมงเท่านั้น
ทุกอย่างดำเนินตามที่วางแผนไว้เป็นอย่างดี จรวด Soyuz 2.1a ถูกปล่อยขึ้นตามกำหนดเวลา ซึ่งในตอนนั้นสถานีอวกาศนานาชาติอยู่ในทิศตะวันตกเฉียงใต้และกำลังมุ่งหน้าไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งยาน Progress กำลังมุ่งหน้าไปในทางนั้นเช่นกัน และใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงกับอีก 24 นาทีก่อนที่ยาน Progress จะเริ่มระบบการ rendezvous หรือมาพบกับสถานีอวกาศนานาชาติที่จุดนัดพบนั่นเอง
หลังจากเตรียมทุกระบบเรียบร้อยแล้ว ยาน Progress MS-09 ได้รับคำสั่งอนุญาตให้ทำการเชื่อมต่อเข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติในเวลา 8:31 น. ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นเหนือน่านฟ้าของประเทศนิวซีแลนด์
ยาน Progress MS-09 ในภารกิจนี้เป็นภารกิจที่ 69 ของยานตระกูลนี้ในการเดินทางสู่สถานีอวกาศนานาชาติ และนำเสบียง 2,567 กิโลกรัมอันได้แก่ เชื้อเพลิง ออกซิเจน น้ำ อาหารและอุปกรณ์ต่าง ๆที่จำเป็น ซึ่งได้เพิ่มปริมาณอาหารให้กับลูกเรืออีกด้วย
Progress คือชื่อของยานขนส่งเสบียงของรัสเซียที่ไร้คนควบคุม มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกับยาน Soyuz ที่ขนส่งนักบินอวกาศไปสู่สถานีอวกาศนานาชาติอย่างมาก และจรวดขับดันของมันถูกใช้เพื่อเปลี่ยนวงโคจรของตัวสถานีได้ด้วย โดยปกติมันจะใช้เวลาอยู่บนสถานีนาน 6 เดือน ก่อนจะถูกทำลายเมื่อตกลงสู่ชั้นบรรยากาศของโลก
เรียบเรียงโดย
กรทอง วิริยะเศวตกุล
อ้างอิง:
https://www.nasa.gov/mission_pages/station/structure/elements/progress_about.html
https://www.nasaspaceflight.com/2018/07/progress-ms-09-super-fast-4-hour-rendezvous/