24 พฤศจิกายน 2560
ตั้งแต่ปี 2015 LIGO ได้ตรวจพบคลื่นความโน้มถ่วงมาแล้ว 6 ครั้ง เป็นการชนกันของหลุมดำ 5 ครั้งและอีกหนึ่งครั้งเป็นการชนกันของดาวนิวตรอน ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 นักดาราศาสตร์ออกมาประกาศการค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงที่เคยตรวจจับได้เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน จากห้องปฏิบัติการของ LIGO ซึ่งเป็นการชนกันของหลุมดำขนาดเล็กที่สุดเท่าที่นักดาราศาสตร์เคยค้นพบ มันถูกเรียกชื่อว่า GW 170708
LIGO ตรวจพบคลื่นความโน้มถ่วงนี้ ในวันที่ 8 มิถุนายน เวลา 09:01:16 ตามเวลาประเทศไทย เครื่องตรวจจับสัญญาณคลื่นความโน้มถ่วงที่เมือง Livingstone รัฐลุยเซียนา (Louisiana) ตรวจจับสัญญาณคลื่นความโน้มถ่วงครั้งนี้ได้ แต่ในขณะเดียวกันเครื่องตรวจจับที่เมือง Hanford รัฐวอชิงตัน (Washington) อยู่ระหว่างการซ่อมบำรุงและปิดระบบเตือนไว้ จึงไม่สามารถตรวจจับสัญญาณได้
ส่วนหอดูดาวสังเกตคลื่นความโน้มถ่วง Virgo ที่ติดตั้งที่ยุโรป ก็อยู่ระหว่างการทดสอบการทำงานของระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ จึงไม่ได้ตรวจจับเหตุการณ์นี้ แต่ทีม Virgo ก็ได้ทำการวิเคราะห์ไว้ในงานวิจัยนี้เช่นกัน
ตามลักษณะของสัญญาณคลื่นความโน้มถ่วง ทั้งสองทีมสรุปได้ว่ามวลเริ่มต้นของหลุมดำประมาณ 7 และ 12 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ หลังชนกันหลุมดำมีขนาด 18 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ ซึ่งทีมนักดาราศาสตร์พบสัญญาณนี้เกิดขึ้นที่ระยะห่างจากโลกเราออกไปประมาณพันล้านปีแสง เป็นบริเวณแห่งใดแห่งหนึ่งทางซีกฟ้าเหนือ หลุมดำที่ชนกันมีหมุนโดยความเร็ว 69% ของความเร็วสูงสุดที่เป็นไปได้ ซึ่งใกล้เคียงกับค่าที่ทำนายไว้ คือ 70%
สิ่งที่น่าสนใจของการตรวจพบครั้งล่าสุดนี้คือ หลุมดำขนาดเล็กมีความใกล้เคียงกับ การค้นพบครั้งที่ 2 GW151226 หลุมดำมวลเริ่มต้น 8 และ 14 เท่าของดวงอาทิตย์ หลังชนกันเป็นหลุมดำใหม่มีมวล 21 เท่าของดวงอาทิตย์ มวลเริ่มต้นของหลุมดำมีลักษณะใกล้เคียงกับหลุมดำที่เกิดจากดาวฤกษ์มวลมาก ซึ่งนักดาราศาสตร์เคยตรวจตรวจจับได้จากรังสีเอกซ์ที่พุ่งออกมาจากบริเวณขอบหลุมดำ
อีกอย่างหนึ่งที่น่าตื่นเต้น คือ มวลต่างกันของหลุมดำอาจบ่งชี้ถึงการเกิดที่แตกต่างกัน ดังนั้นถ้าเรามีหลุมดำจำนวนมากพอ นักดาราศาสตร์จะสามารถวิเคราะห์ที่มีที่ไปของมันได้ ในอนาคต ทีมงานตรวจจับจะพยายามหาหลุมดำให้พบมากถึง 100 ดวง และตอนนี้นักดาราศาสตร์กำลังเริ่มหาว่าหลุมดำแต่ละกลุ่มมาจากไหน และ LIGO จะพร้อมเดินเครื่องที่พัฒนาแล้วในปี ค.ศ. 2018
** ทำไมจึงประกาศการค้นพบช้า คำตอบคือ เนื่องจากทีมงานกำลังยุ่งอยู่กับการวิเคราะห์การตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงจากเดือนสิงหาคมสองเหตุการณ์ คือ หลุมดำชนกันครั้งที่ 4 GW170814 และ ดาวนิวตรอนชนกัน GW170817
อ้างอิง :
http://www.skyandtelescope.com/astronomy-news/ligo-sees-smallest-black-hole-binary-yet-1611201723/
เรียบเรียง โดย ประณิตา เสพปันคำ