22 พฤศจิกายน 2560
การค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามตอบคำถามที่สำคัญอย่างยิ่งว่า “สถานที่อื่นๆในเอกภพเรามีสิ่งมีชีวิตหรือไม่?” แน่นอนมันเป็นคำถามที่ตอบยากมาก แต่ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมานี้ การศึกษาเรื่องดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะคืบหน้าไปแบบก้าวกระโดด
ก่อนหน้านี้ไม่นานนัก นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะชื่อ Proxima Centauri b ซึ่งอยู่ห่างจากโลกไปราวๆ 4.2 ปีแสง แต่ล่าสุด นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ห่างออกไปจากโลกเรา 11 ปีแสง ชื่อ Ross 128 b มันโคจรรอบดาวฤกษ์ชื่อ Ross 128 ซึ่งดาวฤกษ์ดวงนี้อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 12 มันเป็นดาวฤกษ์ประเภท M ที่มีมวล 16% ของมวลดวงอาทิตย์
Xavier Bonfils นักวิจัยจาก University of Grenoble-Alpes ประเทศฝรั่งเศส ตรวจจับการเคลื่อนไหวของดาวฤกษ์ Ross 128 ซึ่งการเคลื่อนไหวนี้เกิดจากแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ที่โคจรไปรอบๆมันด้วยอุปกรณ์ spectrograph ที่ใช้หาอัตราเร็วได้อย่างแม่นยำยิ่ง โดยอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นของหอดูดาว European Southern Observatory’s La Silla Observatory ในประเทศชิลี
ผลการศึกษาพบว่า รอบๆดาว Ross 128 มีดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะโคจรอยู่ เบื้องต้นนักดาราศาสตร์เชื่อว่ามันเป็นดาวเคราะห์หินที่มีมวล 1.3 เท่าของโลก เรียกได้ว่าใกล้เคียงกับมวลของโลกมาก โคจรรอบดาวฤกษ์ทุก 9.9 วัน และมันอาจเป็นโคจรอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า Habitable zone ซึ่งเป็นบริเวณที่น้ำอยู่ในรูปของเหลวบนผิวดาวเคราะห์ได้
แม้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงนี้จะอยู่ใกล้กับดาวฤกษ์ของมันมากกว่าระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ 20 เท่า แต่มันได้รับพลังงานแสงมากกว่าโลกเพียง 50 % เท่านั้น เนื่องจากดาวฤกษ์ Ross 128 มีขนาดเล็กและเย็นกว่าดวงอาทิตย์มาก
เหตุที่นักดาราศาสตร์ให้ความสนใจดาวเคราะห์ดวงนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะดาวฤกษ์ Ross 128 นั้นมีอายุมาก จึงมีการปะทุที่ผิวต่ำกว่าดาวฤกษ์หนุ่มๆอย่าง Proxima Centauri และ TRAPPIST-1 การปะทุพวยพลังงานเหล่านี้เป็นสิ่งที่อาจก่ออันตรายและไม่ส่งผลดีต่อสิ่งมีชีวิต ดังนั้นหากมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นมาบนดาวเคราะห์ที่โคจรรอบ Ross128 อาจมีโอกาสดำรงชีวิตอยู่รอดได้นานกว่าการอยู่ในระบบดาวที่เต็มไปด้วยการปะทุระเบิดของดาวฤกษ์แม่
ในอนาคตอันใกล้ นักดาราศาสตร์จะทำการศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงนี้เพื่อจะได้ตอบคำถามให้ชัดเจนว่า มันมีน้ำอยู่มากน้อยแค่ไหน และการตอบอคำถามเล็กๆเหล่านี้ อาจมีส่วนช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจภาพใหญ่ต่อคำถามเริ่มต้นที่ว่า สถานที่อื่นๆในเอกภพของเรามีสิ่งมีชีวิตหรือไม่?
งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร
Astronomy & Astrophysics
เรียบเรียง โดย อาจวรงค์ จันทมาศ
อ้างอิง
http://www.skyandtelescope.com/astronomy-news/exoplanet-orbits-quiet-star-11-light-years-away/