NSO

วันที่ 18 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา (ตามเวลาประเทศไทย) อีลอน มัสก์ ประธานบริหารบริษัท SpaceX ประกาศแผนท่องเที่ยวดวงจันทร์ด้วยจรวดรุ่นใหม่ล่าสุด “บิกฟัลคอน” (BFR)  พามหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่นพร้อมศิลปินกลุ่มหนึ่งซึ่งจะเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่ได้โคจรรอบดวงจันทร์ ตั้งเป้าเดินทางในปี 2566 

        ยูซากุ มาเอซาวะ (Yusaku Maezawa) มหาเศรษฐีเจ้าของธุรกิจขายแฟชั่นออนไลน์ ZOZO ผู้หลงรักดวงจันทร์ตั้งแต่เด็ก เป็นผู้สนับสนุนหลักในภารกิจนี้และจะร่วมเดินทางไปด้วย ใช้เวลาเดินทางไปกลับประมาณ 1 สัปดาห์  ได้เหมาเที่ยวบินนี้ทั้งหมดและเปิดโครงการ Dear Moon เพื่อคัดเลือกศิลปินทั่วโลกในหลายสาขา อาทิ จิตรกร ช่างแกะสลัก ดีไซน์เเนอร์  สถาปนิก ฯลฯ จำนวน 6-8 คน ร่วมดินทางไปด้วยและออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด  แต่ผู้ร่วมโครงการต้องออกกำลังกายเพื่อเตรียมร่างกายให้แข็งแรง เนื่องจากการเดินทางอวกาศเต็มไปด้วยอันตราย  เขาคาดหวังว่า ศิลปินดังกล่าวที่ร่วมเดินทางไปกับเขาจะนำประสบการณ์เดินทางไปดวงจันทร์ในครั้งนี้ มาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ  ต่อยอดจินตนาการและความฝันของคนอื่น ๆ ให้หลงรักดวงจันทร์เหมือนกับเขาเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก

       SpaceX พัฒนาจรวดบิกฟัลคอน (BFR) เพื่อส่งมนุษย์เดินทางไปดาวอังคารหรือวัตถุอื่นในระบบสุริยะ รวมถึงส่งสัมภาระอื่นๆ ขึ้นสู่อวกาศ การแถลงข่าวในครั้งนี้ ได้นำเสนอจรวด BFR แบบล่าสุด ความสูงของจรวดรวมตัวยาน BFS (Bic Falcon Spaceship) ที่หัวจรวด จากเดิม 106 เมตร เป็น 118 เมตร และเพิ่มครีบปีกจรวดบริเวณท้ายยาน BFS จาก 2 ปีกเป็น 3 ปีก เพื่อใช้เป็นขาแตะพื้นในการลงจอด ตัวยานจุมนุษย์ได้ 100 คน สำหรับเที่ยวบินท่องเที่ยวโคจรรอบดวงจันทร์ในโครงการ Dear Moon จะเน้นนักบินอวกาศรูปร่างผอม เพื่อใช้พื้นที่ส่วนที่เหลือบรรทุกเชื้อเพลิง อาหาร น้ำ และอุปกรณ์อื่นๆ สำรองไว้หากเกิดกรณีฉุกเฉินระหว่างปฏิบัติภารกิจ

 

        ก่อนหน้านี้ ยูซากุ มาเอซาวะ และ SpaceX กำหนดเดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์ภายในปี 2561 ด้วยจรวดฟัลคอนเฮฟวี (Falcon Heavy) แต่ SpaceX เลื่อนกำหนดการและปรับเปลี่ยนแผนส่งคนไปโคจรรอบดวงจันทร์ด้วยจรวด BFR ในปี 2566

        อย่างไรก็ตาม กำหนดการส่งมนุษย์ไปโคจรรอบดวงจันทร์ในปี 2566 ยังไม่ระบุช่วงเวลาที่แน่นอน เนื่องจากต้องทดสอบจรวดในสภาวะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงและทดสอบส่งจรวดเข้าสู่วงโคจรรอบโลกก่อน ในปี 2563 - 2564 และมีแผนการทดสอบการปล่อยจรวด BFR ขึ้นสู่อวกาศอีกหลายครั้ง  

---------------------------------------------------------

แปลและเรียบเรียงโดย

พิสิฏฐ นิธิยานันท์

เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ ศูนย์บริการวิชาการและสารสนเทศดาราศาสตร์

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ที่มาของข้อมูลข่าว

https://www.space.com/41854-spacex-unveils-1st-private-moon-flight-passenger.html