การค้นพบในครั้งนี้นำทีมโดย Roberto Orosei นักวิจัยจาก National Institute of Astrophysics ประเทศอิตาลี ได้วิเคราะห์ข้อมูลที่ส่งมาจากยาน Mars Express และค้นพบหลักฐานสำคัญที่คาดว่ามีทะเลสาบอยู่ใต้พื้นผิวดาวอังคาร
ยาน Mars Express ปฏิบัติภารกิจมานานกว่า 15 ปี ถือว่าเป็นยานสำรวจดาวอังคารที่มีระยะเวลาการทำงานยาวนานเป็นอันดับสองในปัจจุบัน (รองลงมาจากยาน Odyssey 17 ปี) โดยการค้นพบในครั้งนี้ใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า “MARSIS” มีหลักการทำงานคล้ายกับเรดาร์ คือ ปล่อยสัญญาณคลื่นวิทยุออกไปยังตำแหน่งเป้าหมาย ซึ่งคลื่นวิทยุดังกล่าวสามารถทะลุลงไปใต้พื้นผิวดาวได้ถึง 3 กิโลเมตร และสะท้อนกลับมายังอุปกรณ์รับสัญญาณ ข้อมูลของสัญญาณที่สะท้อนกลับมาจะสามารถบ่งบอกได้ถึงสภาพสถานะของชั้นใต้ผิวดาว ซึ่งพบว่า บริเวณที่อยู่ใกล้กับขั้วใต้ของดาว เรียกว่า “Planum Australe” มีชั้นของทะเลสาบหนา 1 เมตร กว้าง 20 กิโลเมตร อยู่ลึกลงไปจากพื้นผิว 1.5 กิโลเมตร
ข้อมูลจากยาน Mars Express บ่งบอกว่าที่ระดับความลึก 1.5 กิโลเมตรใต้พื้นผิวดาว สามารถประมาณค่าอุณหภูมิได้ที่ -68 องศาเซลเซียส ซึ่งน้ำบริสุทธิ์จะไม่สามารถอยู่ในสถานะของเหลวได้ ทีมนักวิจัยจึงคาดว่าหากเป็นทะเลสาบใต้พื้นผิวจริง จะต้องเป็น “น้ำเกลือ” ที่มีความเข้มข้นสูงมาก เพราะจากการศึกษาน้ำทะเลใต้น้ำแข็งขั้วโลกใต้ มีอุณหภูมิอยู่ที่ -13 องศาเซลเซียส พบว่าน้ำบริเวณนั้นมีค่าความเข้มข้นของเกลือมากกว่าบริเวณอื่น ประกอบกับหลักฐานจากยานสำรวจ Phoenix และ Curiosity เคยค้นพบว่า ดาวอังคารมีเกลือชนิดเพอร์คลอเรท (Perchlorate) อยู่มาก ซึ่งเป็นเกลือที่มีคุณสมบัติในการละลายน้ำได้ดี
อย่างไรก็ดี การค้นพบในครั้งนี้จำเป็นต้องได้รับการยืนยันจากข้อมูลที่มีความละเอียดสูงมากกว่านี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นโจทย์ปัญหาที่ท้าทายอันใหม่สำหรับการสำรวจดาวอังคารในอนาคต
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ที่จะถึงนี้ จะเป็นช่วงกำหนดการที่ยานสำรวจดาวอังคารอีกหนึ่งลำจะลงจอด คือ “InSight” ซึ่งเป็นยานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโครงสร้างภายในของดาวอังคารโดยเฉพาะ จะนำมาซึ่งข้อมูลเชิงลึกของดาวอังคารที่น่าตื่นเต้นอีกมากอย่างแน่นอน
อ้างอิง :
[1] https://www.nature.com/articles/d41586-018-05795-6
[2] https://www.skyandtelescope.com/astronomy-news/liquid-water-on-mars-really-probably/
เรียบเรียง : ธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.