NSO

ดาวพุธ หรือเตาไฟแช่แข็งนั้น เป็นดาวที่ไม่ได้อยู่ไกลจากโลกนัก เมื่อเทียบกับดาวพฤหัสฯหรือดาวเสาร์ แต่การส่งยานไปสำรวจดาวพุธกลับเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าการส่งยานออกไปสำรวจรอบนอกของระบบสุริยะเสียอีก 

 

 

        เนื่องจากมันอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์และเคลื่อนที่เร็วมากทำให้ยานต้องเร่งความเร็วให้ทันดาวพุธ ก่อนจะชะลอลงเพื่อเข้าสู่วงโคจร

        นี่คือเหตุผลที่ทำไมยังมีหลายเรื่องหลายประเด็นที่นักดาราศาสตร์ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับดาวพุธ เพราะจนถึงปัจจุบันมียานอวกาศเพียง 2 ลำที่เคยเดินทางไปสำรวจมัน และมีเพียงลำเดียวที่โคจรรอบกาวพุธนานพอจะเก็บข้อมูลมาให้ศึกษาได้ ยานลำนั้นก็คือ MESSENGER ที่เพิ่งจบภารกิจไปเมื่อปี ค.ศ. 2015 ที่ผ่านมานี้เอง

        ก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์ได้ประมาณขนาดของเปลือกดาวพุธว่าหนาอยู่ที่ 35 กิโลเมตรโดยอ้างอิงข้อมูลที่ได้จากยาน MESSENGER แต่ Michael Sori นักวิจัยที่ Lunar and Planetary Laboratory ได้ทำการคำนวณใหม่โดยอิงจากข้อมูลของยาน MESSENGER เช่นกัน และปรากฏว่ามันหนาเพียง 26 กิโลเมตรเท่านั้น งานวิจัยของเขาได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Earth and Planetary Science Letters เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2018

        ก่อนที่จะค้นหาความหนาของเปลือกดาวพุธ นักวิจัยต้องทำความเข้าใจลักษณะทางภูมิศาสตร์ของดาวพุธเสียก่อน โดยดาวพุธนั้นมีสมดุล isostasy เหมือนกับโลก ซึ่งมันคือสมดุลของแรงโน้มถ่วงระหว่างเปลือกและแทนเทิบของดาว  ซึ่งสามารถใช้หาความหนาของเปลือกดาวพุธได้โดยดูจากลักษณะภูมิประเทศของดาว และแน่นอนว่ายาน MESSENGER นั้นก็มีข้อมูลภูมิประเทศของดาวพุธที่ค่อนข้างครบถ้วน ซึ่งสามารถนำมาใช้คำนวณหาความหนาของเปลือกดาวพุธจนได้ค่าออกมาเป็น 26 กิโลเมตรในงานวิจัยล่าสุดนี้

        เมื่อเทียบกับดาวเคราะห์หินดวงอื่นแล้ว ดาวพุธมีแก่นใหญ่ที่สุดเทียบกับขนาดทั้งดวงของมัน ซึ่งนักดาราศาสตร์คาดกันว่าแก่นของดาวพุธกินพื้นที่ไปถึง 60% ของดาวทั้งดวง เทียบแก่นโลกที่มีขนาดเพียง 15% ของปริมาตรทั้งหมด ซึ่ง Michael Sori ยกสองสมมติฐานขึ้นมาอธิบาย ว่า

1. ดาวพุธเกิดขึ้นมาเหมือนกับดาวเคราะห์หินดวงอื่น ๆ เพียงแค่เปลือกกับแมนเทิลของมันหลุดออกจากดาวเพราะถูกวัตถุขนาดใหญ่พุ่งชน

2. เนื่องจากดาวพุธอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์อย่างมาก ลมสุริยะที่รุนแรงอาจจะพัดพาเผลือกหินออกไปในปริมาณมาก และทำให้ดาวพุธมีแก่นขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับปริมาตรของมัน

        แน่นอนว่า ในปุจจุบันยังไม่มีสมมติฐานไหนที่นักดาราศาสตร์ยืนยันความถูกต้องได้ 100% แต่งานวิจัยล่าสุดนี้ได้สนับสนุนทฤษฏีที่ว่าเปลือกของดาวพุธเกิดจากการปะทุของภูเขาไฟในอดีต และการทำความเข้าใจว่าเปลือกของมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไรก็อาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจการเกิดของดาวพุธได้ดียิ่งขึ้นด้วย

เรียบเรียงโดย 

กรทอง วิริยะเศวตกุล

 

อ้างอิง

https://www.space.com/41171-mercury-crust-thin-nasa-messenger-spacecraft.html

https://uanews.arizona.edu/story/new-estimates-mercurys-thin-dense-crust