ทีมนักดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Durham ได้ทำการวิเคราะห์ว่าทำไมแกนหมุนดาวยูเรนัสถึงได้เอียงทำมุมมากถึง 98 องศา (โลกของเรานั้นเอียงทำมุมเพียง 23.5 องศาโดยประมาณเท่านั้น) แบบจำลองการชนในคอมพิวเตอร์ด้วยรูปแบบต่างกันถึง 50 รูปแบบทำให้นักดาราศาสตร์สามารถยืนยันได้ว่าดาวยูเรนัสเคยถูกพุ่งชนด้วยดาวเคราะห์แรกเกิดอายุน้อย ที่มีส่วนประกอบหลักเป็นหินและน้ำแข็งในช่วงที่ระบบสุริยะกำลังก่อตัวประมาณ 4 พันล้านปีก่อน
การจำลองนี้แสดงให้เห็นว่าเศษซากจากการพุ่งชนได้ก่อตัวเป็นเปลือกบางๆของดาวยูเรนัส ซึ่งเปลือกนี้ได้กักเก็บความร้อนที่ปล่อยออกมาจากแก่นของดาวไม่ให้ออกสู่ชั้นบรรยากาศ นั่นเป็นสาเหตุที่อุณหภูมิของบรรยากาศชั้นนอกเย็นยะเยือกถึง -216 องศาเซลเซียส
วีดีโอแบบจำลองการชน
แม้จะมีคำถามที่ว่าถ้าเกิดการพุ่งชนที่รุนแรงขนาดนั้น แล้วทำไมดาวยูเรนัสยังคงมีชั้นบรรยากาศอยู่ได้ ทั้งๆชั้นบรรยากาศควรจะหนีหายไปจากดาวยูเรนัสแล้ว คำตอบคือการพุ่งชนนั้นไม่ได้โดนที่ศูนย์กลางเข้าอย่างจัง แต่เฉียดเอาเปลือกนอกออกไปบางส่วน ซึ่งแรงของการชนนั้นมากพอที่จะทำให้ยูเรนัสเอียงข้าง แต่ก็ยังสามารถรักษาสภาพของชั้นบรรยากาศส่วนใหญ่เอาไว้ได้ ทั้งนี้บางส่วนของเศษที่เหลือจากการพุ่งชนก็ได้ก่อตัวขึ้นเป็นดวงจันทร์ชั้นในของดาวยูเรนัสอีกด้วย ซึ่งดวงจันทร์ที่โคจรใกล้ๆกับดาวยูเรนัสส่วนมากมีขนาดเล็กกว่าเมื่อเทียบกับดวงจันทร์ชั้นนอก
ดาวยูเรนัสนั้นมีความคล้ายคลึงกับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเป็นจำนวนมาก ข้อมูลใหม่ในครั้งนี้อาจช่วยนักดาราศาสตร์ในการเข้าใจการเกิดและความเปลี่ยนแปลงของบรรดาเหล่าเคราะห์นอกระบบสุริยะเหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้น
ในปัจจุบันดาวยูเรนัสเคยถูกสำรวจด้วยยานวอยเอเจอร์ 2 เมื่อปี ค.ศ. 1986 เพียงลำเดียว อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังมีโครงการที่ถูกวางแผนไว้จากทั้งสหรัฐฯ ยุโรปและอังกฤษที่จะส่งยานไปสำรวจดาวยูเรนัสเพิ่มเติม แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีโครงการไหนแม้แต่โครงการเดียวที่ได้รับอนุมัติ และความลับของดาวยูเรนัสบางอย่างก็ยังคงเป็นความลับต่อไป
เรียบเรียงโดย กรทอง วิริยะเศวตกุล
อ้างอิง
https://www.dur.ac.uk/news/newsitem/?itemno=35167
https://www.nasa.gov/feature/ames/planet-shifting-collision-shaped-uranus-rolling-rotation