ดาวเคราะห์น้อยเวสตา เป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีความสว่างมากที่สุดกำลังเข้ามาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (opposition) ในวันที่ 19 มิถุนายน 2561 ถ้าท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงรบกวนเราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
บริวารของดวงอาทิตย์ที่มีขนาดใหญ่ดาวเคราะห์ที่เรารู้จักดีเช่นดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์เมื่อโคจรมาถึงตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์วัตถุนั้นจะอยู่บนท้องฟ้าตลอดทั้งคืนดาวเคราะห์เหล่านี้มีความสว่างมากจนทำให้เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าแต่ในกรณีของดาวเคราะห์น้อยเกือบทั้งหมดมีความสว่างน้อยจนเกินแมกนิจูดหกซึ่งเป็นขีดจำกัดที่ตาของมนุษย์สามารถมองเห็นได้ (ลำดับความสว่างหรือแมกนิจูด ยิ่งตัวเลขมากความสว่างยิ่งน้อย) ดาวเคราะห์น้อยเวสตา มีความสว่างในช่วงปกติคือ 5.7 ซึ่งถ้าไม่เคยดูดาวหรือท้องฟ้าไม่มืดสนิทจะมองไม่ค่อยเห็น แต่ช่วงท่ีเข้าสู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ ตัวเลขนี้อาจลดลงไปเหลือแค่ 5.3
เวสตาเป็นดาวเคราะห์น้อยที่ถูกค้นพบเป็นลำดับที่สี่ ในปี พ.ศ. 2350 อยู่ในบริเวณที่เรียกว่าแถบดาวเคราะห์น้อย ซึ่งเป็นวงโคจรที่อยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 525 กิโลเมตร มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่สองรองจาก ดาวเคราะห์แคระเซเรสแต่เวสตามีระยะห่างจากโลกน้อยกว่า ช่วงวันที่ 19 มิถุนายน 2561 เวสตาจะมีระยะห่างจากโลกประมาณ 170.6 ล้านกิโลเมตร เป็นระยะทางที่ใกล้ที่สุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 สำหรับผู้ที่ต้องการเฝ้าชมควรหลีกเลี่ยงแสงรบกวนจากเมืองและแสงรบกวนจากดวงจันทร์ ซึ่งเป็นวันที่ ประมาณ 8-22 มิถุนายน 2561
ในเดือนมิถุนายน ดาวเคราะห์น้อยเวสตา จะปรากฏในกลุ่มดาวคนยิงธนู ซึ่งขึ้นตั้งแต่เวลาหัวคำ่ เมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าเราจะสามารถเห็นกลุ่มดาวคนยิงธนูบนท้องฟ้าทิศตะวันออกเฉียงใต้ และควรทำการสังเกตการณ์ภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2561 เนื่องจากจะมีแสงรบกวนจากดวงจันทร์และความสว่างของเวสตาจะเริ่มลดลงเรื่อยๆหลังจากผ่านตำแหน่งตรงข้ามดาวงอาทิตย์ที่มีระยะใกล้ที่สุดไปแล้ว
ดาวเคราะห์น้อยเวสตาในเดือนมิถุนายน โดยการปรากฏบนท้องฟ้าในกลุ่มดาวคนยิงธนู ภาพโดย Skyandtelescope
ความสว่างของดาวเคราะห์น้อยเวลตาเป็นปริศนามาหลายหลายสิบปี เนื่องจากความสามารถในการสะท้อนแสงที่มีกว่ากว่าดวงจันทร์หรือโลก (ดวงจันทร์สะท้อนแสงอาทิตย์ออกไปแค่ 12% โลกสะท้อนแสงมากว่าดวงจันทร์คือ 30% ส่วนเวสตาสะท้อนแสงมากกว่าถึง 43%) จนกระทั่งยานอวกาศ Dawn เข้าไปสำรวจในปี ค.ศ. 2011ด้วยการโคจรรอบดาวเคราะห์น้อยดวงนี้กว่า 1 ปี ภาพความละเอียดสูงเผยให้เห็นรูปร่างคล้ายหัวมันและพื้นผิวที่เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาต ข้อมูลจากยาน Dawn บ่งบอกว่าพื้นผิวของเวสตามีองค์ประกอบที่ซับซ้อนส่วนใหญ่มีองค์ประกอบคล้ายกับ อุกกาบาตหายากในกลุ่ม HED (Howardites, eucrites, and diogenites) ที่ปรากฏบนโลก ซึ่งพิสูจน์ทฤษฏีแหล่งที่มาของอุกกาติชนิดนี้
ดาวเคราะห์น้อยเวสตาจะเริ่มเคลื่อนที่ออกห่างหลังจากวันที่ 22 มิถุนายน 2561 โดยปรกฏเป็นจุดแสงคล้ายกับดาวฤกษ์ เหนือกลุ่มดาวคนยิงธนูในทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นมุมเงยประมาณ 40 องศาจากเส้นขอบฟ้า การใช้อุปกรณ์สังเกตการอย่างง่ายเช่นกล้องสองตาและแผนที่ดาวจะช่วยให้สามารถหาตำแหน่งของดาวเคราะห์น้อยเวสตาได้ง่ายขึ้น
เรียบเรียงโดย สิทธิพร เดือนตะคุ
ที่มา
http://www.skyandtelescope.com/observing/vesta-2018-opposition/
http://www.planetary.org/blogs/emily-lakdawalla/2014/10091306-what-did-dawn-learn-at-vesta.html