NSO

ทีมนักวิทยาศาสตร์ซึ่งนำทีมโดย Shuai Li จากมหาวิทยาลัยฮาวาย และมหาวิทยาลัยบราวน์ ร่วมกับ Richard Elphic จากศูนย์วิจัยเอมส์ (Ames Research Center) ของนาซาใน ซิลิคอนแวลลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ใช้ข้อมูลจากยานสำรวจจันทรายาน-1 ที่มีอุปกรณ์เครื่องสเปกโตรมิเตอร์ ที่ใช้จัดทำแผนที่พื้นผิวดวงจันทร์ความละเอียดสูง (Moon Mineralogy Mapper หรือ M3) ของนาซา ในการตรวจสอบเพื่อยืนยันการมีอยู่ของน้ำแข็งบนพื้นผิวดวงจันทร์ พบว่าน้ำแข็งเหล่านี้มีการกระจายตัวอย่างไม่เป็นระเบียบอยู่บริเวณขั้วเหนือและขั้วใต้ของดวงจันทร์และอาจเป็นน้ำแข็งที่มีความเก่าแก่มากอีกด้วย

        น้ำแข็งที่ค้นพบเหล่านี้ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณเงามืดของหลุมอุกกาบาตใกล้กับขั้วของดวงจันทร์ ซึ่งมีอุณหภูมิสูงสุดไม่เกิน -156.67 องศาเซลเซียส เนื่องจากแกนหมุนรอบตัวเองของดวงจันทร์เอียงเล็กน้อยแสงอาทิตย์จึงไม่สามารถส่องถึงบริเวณเหล่านี้ได้ จากภาพบริเวณสีฟ้าแสดงถึงตำแหน่งของน้ำแข็งที่ถูกสร้างขึ้นลงบนภาพของพื้นผิวดวงจันทร์  ในขณะที่ระดับสีเทาจะแสดงถึงอุณหภูมิพื้นผิว (บริเวณที่มีสีเข้มจะเป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำ ส่วนบริเวณที่สว่างจะเป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิที่สูงกว่า) โดยขั้วใต้ของดวงจันทร์น้ำแข็งจะรวมตัวกันอยู่บริเวณก้นหลุมอุกกาบาตซึ่งเป็นบริเวณที่มืดที่สุดและเย็นที่สุดในขณะที่ขั้วเหนือน้ำแข็งจะกระจายตัวในวงกว้างและเบาบางกว่า

        ยานสำรวจจันทรายาน-1 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยองค์การวิจัยอวกาศประเทศอินเดีย (Indian Space Research Organization) ประกอบไปด้วยอุปกรณ์เครื่องถ่ายภาพสเปกโตรมิเตอร์ Moon Mineralogy Mapper (M3) ที่ออกแบบมาสำหรับยืนยันการมีอยู่ของน้ำแข็งบนดวงจันทร์ และศึกษาคุณสมบัติการสะท้อนของน้ำแข็งรวมถึงวัดการดูดซับแสงอินฟาเรดเพื่อจำแนกสถานะของน้ำ

        จากการศึกษาก่อนหน้านี้พบว่าเคยมีการตรวจพบสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการมีอยู่ของน้ำแข็งบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ แต่อาจได้รับการอธิบายโดยปรากฏการณ์อื่น ๆ ไปแล้ว เช่น เป็นการสะท้อนที่ผิดปกติของพื้นผิวดวงจันทร์

        การศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับน้ำแข็งเหล่านี้ ว่าทำไมจึงอยู่บริเวณนั้น และมีปฏิสัมพันธ์อย่างไรต่อสภาพแวดล้อมในวงกว้างของดวงจันทร์ จะเป็นประโยชน์สำหรับการปฏิบัติภารกิจในอนาคต เนื่องจากน้ำแข็งที่อยู่บนพื้นผิวอาจเป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายมากกว่าน้ำที่ตรวจพบใต้ผิวของดวงจันทร์ ทั้งยังเป็นทรัพยากรที่สำคัญสำหรับการสำรวจ รวมไปถึงการไปอยู่บนดวงจันทร์ได้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เราพยายามที่จะกลับไปสำรวจเพื่อนบ้านที่ใกล้ที่สุดของเราต่อไป

อ้างอิง :

https://www.nasa.gov/feature/ames/ice-confirmed-at-the-moon-s-poles

เรียบเรียง : ศิวรุต พลอยแดง - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.