16 ตุลาคม 2560
ปลายเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2014 ยานอวกาศ MAVEN ขององค์การนาซาพบออโรราช่วงคลื่นอัลตราไวโอเล็ตในชั้นบรรยากาศของดาวอังคารนานประมาณ 5 วัน โดยตำแหน่งที่เกิดแสงออโรรานี้อยู่บริเวณซีกเหนือไม่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรของดาวอังคารนัก และมีการประกาศออกมาเมื่อปี 2015
นักวิทยาศาสตร์ตื่นเต้นกับตำแหน่งการเกิดแสงออโรราเพราะพวกเขาไม่คิดมาก่อนว่ามันจะกระจายตัวเป็นวงกว้างขนาดนี้
แสงออโรรานั้นเกิดจากการที่อนุภาคมีประจุไฟฟ้าจำนวนมากจากดวงอาทิตย์พุ่งเข้าชนชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์แล้วเกิดการปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปแสงออโรรา ซึ่งสนามแม่เหล็กบนโลกที่คลุมอยู่รอบๆโลกของเราจะเบนลำอนุภาคจากดวงอาทิตย์ให้เข้ามาสู่ชั้นบรรยากาศบริเวณขั้วเหหนือและขั้วใต้ แสงออโรราบนโลกเราจึงปรากฏบริเวณขั้วโลกเหนือและใต้ แต่สนามแม่เหล็กของดาวอังคารนั้นแตกต่างออกไป เพราะสนามแม่เหล็กของดาวอังคารนั้นอ่อนกว่าโลกมาก อีกทั้งยังมีรูปทรงโค้งๆคล้ายร่ม มันเป็นสภาพสนามแม่เหล็กบางๆที่หลงเหลือจากเมื่อพันล้านปีก่อนที่ดาวอังคารเคยมีสนามแม่เหล็กคลุมทั้งดวงเช่นเดียวกับโลกของเรา ดังนั้นออโรราบนดาวอังคารจึงมีโอกาสเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้
แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการค้นพบออโรราบนดาวอังคารเพราะเมื่อสิบปีก่อน ยานอวกาศ Mars express ขององค์การอวกาศยุโรปพบแสงอัลตราไวโอเล็ตเรืองขึ้นมาจากซีกใต้ของดาวอังคารมาแล้ว
แน่นอนว่าตาของมนุษย์เราไม่สามารถมองเห็นแสงอัลตราไวโอเล็ตได้ แต่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าแก๊ส CO2ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในชั้นบรรยากาศของดาวอังคารนั้นมีอะตอมของออกซิเจนอยู่ หากออกซิเจนถูกกระตุ้นด้วยพลังงานจากแสงอัลตราไวโอเล็ต มันจะปลดปล่อยแสงสีเขียวออกมา
วันข้างหน้าที่มนุษย์เราเดินทางไปเยือนดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้ เราคงต้องสังเกตท้องฟ้าให้ดีว่าแสงออโรราจะมีสีเขียวอย่างที่นักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้ในวันนี้หรือไม่
อ้างอิง
https://science.nasa.gov/science-news/science-at-nasa/2015/11may_aurorasonmars/