NSO

รูป 1 คือจรวดฟอลคอน9 ที่กำลังลงจอดอย่างสวยงาม

ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้ว่า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2015 ที่ผ่านมานี้ จรวดฟอลคอน 9 ของบริษัท SpaceX สามารถลงจอดได้สำเร็จใกล้ๆกับฐานส่งจรวดหลังจากถูกส่งขึ้นไปเพื่อปล่อยดาวเทียม 11 ดวงเข้าสู่วงโคจรแล้ว (รูป1)

จริงๆแล้วถ้าจะพูดให้ถูกต้องชัดเจนต้องบอกว่า เป็นการลงจอดของจรวดส่วนที่ 1 (หรือ จรวดส่วนฐาน) จรวดลำนี้ด้านล่างสุดคือ จรวดส่วนฐานซึ่งติดอยู่กับ จรวดส่วนบนซึ่งใช้ขับดันสัมภาระให้เข้าสู่วงโคจร จากรูป 2 จะเห็นว่าเมื่อจรวดทะยานขึ้นสู่ความสูงระดับหนึ่ง จรวดส่วนบนจะแยกตัวออกเพื่อนำดาวเทียมเข้าสู่วงโคจร ในขณะที่จรวดส่วนฐานจะกลับตัวแล้วจุดระเบิดเพื่อลดความเร็วเพื่อลงจอด

 

ความยิ่งใหญ่ของการลงจอดในครั้งนี้คือ การสร้างจรวดที่นำกลับมาลงจอดได้และทำให้มันลงจอดได้สำเร็จหลังจากการปฏิบัติภารกิจ ซึ่งก่อนหน้านี้จรวดที่ปฏิบัติภารกิจเสร็จจะถูกทิ้งไปในอวกาศไปเลย

การลงจอดในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญเพราะในอนาคตอันใกล้ หากจรวดลำนี้ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ได้ก็ถือว่าจะเป็นการประหยัดต้นทุนการส่งจรวดมหาศาลในระยะยาว

อีลอน มัสค์ (Elon Musk) ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารบริษัท SpaceX กล่าวว่า “ตัวจรวดฟอลคอน9 ใช้เงินทุนในการสร้างถึง 16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ค่าเชื้อเพลิงของจรวดซึ่งส่วนมากเป็นออกซิเจนเหลวนั้นมีราคาเพียง 2 แสนเหรียญสหรัฐฯเท่านั้น” แน่นอนว่ากว่าจะมีวันนี้ SpaceXใช้เวลาพัฒนาเทคโนโลยีการลงจอดนานถึง 5 ปี แถมล้มเหลวมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง

ก่อนหน้านี้มีการทดลองระบบลงจอดกับจรวด Grasshopper ซึ่งเป็นจรวดที่ยิงขึ้นไปตรงๆแล้วก็ลอยอยู่กลางอากาศที่ความสูงระดับหนึ่ง จากนั้นจะค่อยๆลดระดับลงจอดบนพื้นอย่างสวยงาม จะว่าไปพฤติกรรมของจรวดลำนี้ก็สมชื่อ “ตั๊กแตน” (Grasshopper) ไม่น้อยเพราะมันเหมือนตั๊กแตนที่กระโดดขึ้นแล้วก็ลง ครั้งแรกเจ้าตั๊กแจนกระโดดได้เพียง 1.8 เมตร แต่ครั้งสุดท้ายมันกระโดดสูงถึง 744 เมตรทีเดียว

คำถามคือ แล้วทำไมการสร้างจรวดที่ลงจอดได้ถึงเป็นเรื่องยาก?

ลองคิดดูง่ายๆครับ ลำพังการเอาของที่หนักรวมๆแล้ว 500 ตันขึ้นสู่ห้วงอวกาศก็ยากสุดๆแล้ว แน่นอนว่าต้องมีการปลดสัมภาระ ที่ตำแหน่งและความเร็วเหมาะสม ตัวแปรมากมายเหล่านี้ส่งผลต่อการลงจอดทั้งหมด ทีมงานเปรียบว่าภารกิจนี้ไม่ต่างจากการขว้างดินสอข้ามตึกเอ็มไพร์สเตตซึ่งสูงถึง 381 เมตร แล้วให้ดินสอตกกลับลงมาในกล่องใส่รองเท้าซึ่งวางอยู่อีกฟากหนึ่งของตึก

แต่ผมขอเปรียบเทียบเพิ่มเติมว่า ลองนึกถึงการยิงปืนที่เป้าอยู่ไกลๆสิครับ แค่ยิงให้โดนก็ยากแล้ว พอลูกปืนโดนเป้าแล้วยังต้องคำนวณและบังคับให้ลูกปืนทะลุไปตกยังกระป๋องที่วางห่างออกไปอย่างแม่นยำอีก

ความสำเร็จของ SpaceX ในครั้งนี้เป็นการตอกย้ำเป้าหมายระยะยาวของการเดินทางท่องอวกาศและการจะส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคารให้ได้ในอีกไม่นาน

 

เขียนโดย อาจวรงค์ จันทมาศ